หน้าร้อนนี้เลือกครีมกันแดดให้ถูกวิธีกันเถอะ

Last updated: 27 เม.ย 2566  |  231 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หน้าร้อนนี้เลือกครีมกันแดดให้ถูกวิธีกันเถอะ

ครีมกันแดด (Sunscreen) คือ สารที่ช่วยปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี (Ultraviolet Radiation: UV) โดยช่วยให้ผิวไม่ถูกแสงแดดทำลายจนไหม้หรือเกิดจุดด่างดำต่าง ๆ รวมทั้งลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง ส่วนผสมที่อยู่ในครีมกันแดดจะช่วยปกป้องผิวด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต ปกป้องชั้นผิวที่อยู่ลึก หรือสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตกลับออกไป ทั้งนี้ ครีมกันแดดมีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ โลชั่น ครีม ขี้ผึ้ง หรือสเปรย์

ข้อควรรู้เกี่ยวกับครีมกันแดดและรังสียูวี

  • ครีมกันแดดไม่สามารถปกป้องผิวจากรังสียูวีได้อย่างสมบูรณ์ ควรใช้วิธีอื่นปกป้องผิวร่วมด้วย

  • ครีมกันแดดทุกตัวไม่สามารถป้องกันรังสียูวีได้ทั้งหมด โดยครีมกันแดดบางตัวอาจป้องกันเฉพาะรังสียูวีบี ซึ่งเป็นรังสีที่ส่องถึงพื้นผิวโลกเพียงร้อยละ 5 ในขณะที่ครีมกันแดดบางตัวป้องกันทั้งรังสียูวีบีและยูวีเอ
  • ควรทาครีมกันแดดเมื่อต้องออกไปข้างนอกเสมอ เนื่องจากดวงอาทิตย์จะปล่อยรังสียูวีออกมาตลอดปี ซึ่งรังสีดังกล่าวสามารถแทรกชั้นผิวและทำลายผิวได้
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังแนะนำให้ทาครีมกันแดดที่ผสมค่าป้องกันแสงแดด SPF อย่างน้อย 30 ขึ้นไป ซึ่งจะช่วยป้องกันแสงแดดได้ถึงร้อยละ 97 อย่างไรก็ตาม ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดดสูงจะช่วยป้องกันรังสีจากแสงแดดได้มากกว่าครีมกันแดดที่มีค่าดังกล่าวต่ำเพียงเล็กน้อย เนื่องจากครีมกันแดดไม่สามารถปกป้องผิวจากแสงแดดได้อย่างสมบูรณ์

วิธีเลือกซื้อและใช้ครีมกันแดดอย่างถูกต้อง

วิธีเลือกซื้อครีมกันแดด

การเลือกครีมกันแดดควรใช้ลักษณะการทดลองใช้ และดูประสบการณ์ วัดความพึงพอใจจากการใช้จริง เช่น ใช้แล้วเหนียวเหนอะหนะหรือไม่ เกลี่ยง่ายหรือไม่ ผิวมันเกินไปหรือไม่ หรือเกิดผลเสียก็ให้หยุดใช้ นอกเหนือจากนั้น แนะนำให้เลือกครีมกันแดดที่ไม่ก่อสิว ไม่อุดตัน ไม่มีสารกันบูด ไม่มีน้ำหอม พวกนี้จะทำให้ผิวแพ้และระคายเคืองได้ ควรเป็นครีมกันแดดไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ผิวแห้ง เลือกครีมกันแดดที่ไม่มีสารก่อการอุดตัน (Occlusive Agents) เช่น ลาโนลิน (Lanolin), พีจี หรือโพรพิลิน ไกลคอล (Propylene Glycol) ที่ทำให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย


การเลือกซื้อครีมกันแดดหรือผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันแสงแดดอย่างถูกต้อง ทำได้ ดังนี้

 

1. เลือกครีมกันแดดที่ปกป้องผิวได้อย่างครอบคลุม (Broad-Spectrum)
ซึ่งจะช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีเอและรังสียูวีบี เนื่องจากครีมกันแดดทุกตัวจะช่วยป้องกันรังสียูวีบี ซึ่งเป็นรังสีที่ทำให้ผิวไหม้และเป็นมะเร็งผิวหนัง ครีมกันแดดหรือผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดอื่น ๆ ที่ป้องกันทั้งรังสียูวีเอและยูวีบีจะได้รับการระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ว่า Broad-Spectrum ส่วนครีมกันแดดหรือผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่ไม่ได้รับการระบุดังกล่าวจะป้องกันผิวไหม้ แต่ไม่ครอบคลุมการป้องกันมะเร็งผิวหนังและผิวแก่ก่อนวัย

2. ควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือมากกว่านั้น
โดยค่า SPF จะช่วยบอกระดับการป้องกันผิวจากรังสียูวีบี ครีมกันแดดที่มีค่าดังกล่าวสูงก็จะปกป้องผิวจากแสงแดดได้มาก โดยครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 จะกรองรังสียูวีบีได้ร้อยละ 93 ครีมกันแดดที่มีค่า 30 จะกรองได้ร้อยละ 97 และครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 กรองได้ร้อยละ 98 ส่วนครีมกันแดดที่มีค่า SPFต่ำกว่า 15 สามารถป้องกันผิวไหม้ได้ แต่ไม่ป้องกันมะเร็งผิวหนังหรือผิวแก่กว่าวัย

3. เลือกครีมกันแดดที่กันน้ำได้ (Water Resistant)
โดยครีมกันแดดชนิดนี้จะช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดระหว่างที่ว่ายน้ำหรือเหงื่อออกได้นานประมาณ 40-80 นาที ผู้ใช้ควรทาครีมกันแดดซ้ำอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น

วิธีใช้ครีมกันแดด

การใช้ครีมกันแดดอย่างถูกต้องจะช่วยปกป้องผิวจากรังสีของแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำได้ ดังนี้

  • ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณ 15-30 นาที
  • ควรทาครีมกันแดดชนิดกันน้ำทุกครั้งก่อนว่ายน้ำ และควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือหลังจากว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออก
  • ไม่ใช้ครีมกันแดดที่หมดอายุ เนื่องจากครีมกันแดดจะเสื่อมประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่ใช้ครีมกันแดดที่ซื้อทิ้งไว้ 3 ปีหรือนานกว่านั้น
  • หากออกแดดควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก 1 ชั่วโมง เพราะไม่ว่าครีมกันแดดจะมี SPF หรือ PA เท่าไรก็ตาม โดยทั่วไปภายใน 1 ชั่วโมง หลังโดนแดด ครีมกันแดดก็หมดประสิทธิภาพไปมากแล้ว
  • ปริมาณการทาครีมกันแดดที่เหมาะสมต่อการทาผิวหน้า 1 ครั้ง จริงๆ แล้วควรบีบครีมกันแดดให้ยาวไม่น้อยกว่า 2 ข้อนิ้วมือ (2 มิลลิกรัม หรือ 2 ซีซี)

อ่านมาถึงตอนนี้หวังว่าทุกคนพอจะเข้าใจวิธีเลือกซื้อกันแดดที่ถูกต้องกันแล้วใช่มัยคะ  เพื่อให้ไม่ว่าหน้าร้อนไหนๆ ก็ทำอะไรผิวของคุณไม่ได้  

ขอบคุณเนื้อหา thestandard , pobpad.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้